ประวัติวิทยาเขต

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงสถาปนาขึ้น ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ โดยพระราชทานนามว่า มหาธาตุวิทยาลัย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๐ และได้เปิดดำเนินการศึกษาเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๓๒

ต่อมาได้ทรงเปลี่ยนจากมหาธาตุวิทยาลัยเป็น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๓๙ แต่ยังคงจัดการศึกษาเฉพาะปริยัติธรรมแผนกบาลีเท่านั้น ยังมิได้ดำเนินการศึกษาในรูปแบบอุดมศึกษาหรือรูปแบบมหาวิทยาลัยตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๐ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตมหาเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุสมัยนั้น พร้อมทั้งพระเถรานุเถระฝ่ายมหานิกาย จำนวน ๕๗ รูป ได้นัดประชุมพร้อมกันที่ตำหนักสมเด็จฯ วัดมหาธาตุ ปรึกษาหารือได้ข้อยุติที่จะเปิดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัย เปิดรับผู้สนใจวิชาพระพุทธศาสนาพระปริยัติสัทธรรมชั้นสูง ภาษาต่างประเทศและวิทยาการบางอย่างอันเป็นอุปกรณ์แก่การค้นคว้าหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

พุทธศักราช ๒๔๙๐ ประกาศใช้ระเบียบมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดรับพระภิกษุสามเณร ผู้สอบได้ตั้งแต่เปรียญธรรม ๔ ประโยคขึ้นไปเข้าศึกษา พระภิกษุสามเณรที่เข้าศึกษารุ่นแรกนี้มีจำนวน ๑๕๖ รูป เปิดการศึกษาเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๐ โดยจัดให้เรียนวิชาพื้นฐาน เรียกว่า การศึกษาระดับชั้นอบรมพื้นความรู้จนถึงชั้นเตรียมอุดมศึกษา เป็นเวลา ๔ ปี ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๙๐ – ๒๔๙๔ จากนั้นจึงให้เรียนต่อระดับปริญญาตรีในคณะพุทธศาสตร์ ซึ่งเปิดเป็นคณะแรก
รับพระภิกษุสามเณรที่จบชั้นเตรียมอุดมศึกษานี้ และเป็นผู้สอบได้ตั้งแต่เปรียญธรรม ๕ ประโยคขึ้นไป จำนวนผู้ผ่านการคัดเลือกให้เข้าศึกษาปีแรกในคณะพุทธศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๔๙๔ จำนวน ๑๖ รูป สำเร็จการศึกษา ในปี ๒๔๙๘ เป็นพุทธศาสตรบัณฑิตรุ่นแรกจำนวน ๖ รูป

พุทธศักราช ๒๕๑๒ มหาเถรสมาคมออกคำสั่งเรื่อง “การศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๑๒” จำนวน ๑๒ ข้อ สาระสำคัญของข้อ ๓ ระบุส่วนที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยไว้ว่า “ให้การศึกษาของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งดำเนินการอยู่แล้ว เป็นการศึกษาของคณะสงฆ์”

พุทธศักราช ๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช องค์เอกอัครศาสนูปถัมภกรัชกาลปัจจุบัน โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทางพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยมาตรา ๔ (๓) กำหนดไว้ว่า “ให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี เรียกว่า “พุทธศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อว่า “พธ.บ.”

พุทธศักราช ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก รัชกาลที่ ๙ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล และเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๔ ตอนที่ ๕๑ ก ลงวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช มีฐานะเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เดิมตั้งอยู่ ณ วัดแจ้งวรวิหาร ถนนราชดำเนิน ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีประวัติการก่อตั้งและพัฒนาการตามลำดับ ดังนี้

พุทธศักราช ๒๕๑๓ คณะสงฆ์ในภาคใต้ได้ก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์ภาคทักษิณขึ้น โดยมีพระราชธรรมเวที (เรือง วุฑฺฒิญาโณ) เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน และ มีพระมหาพร้อม โกวิโท (ปัจจุบันเป็น พระเทพปัญญาสุธี) เป็นผู้อำนวยการ

วันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘ สภาการศึกษามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีมติให้วิทยาเขตนครศรีธรรมราช เปิดดำเนินการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) เปิดการเรียนการสอนใน คณะพุทธศาสตร์ วิชาเอกศาสนา เป็นครั้งแรก โดยมีพระเทพปัญญาสุธี (พร้อม โกวิโท) เป็นรองอธิการบดี มีนิสิตรุ่นแรก จำนวน ๓๕ รูป และได้สำเร็จการศึกษาเป็นพุทธศาสตรบัณฑิต รุ่นแรกของวิทยาเขตนครศรีธรรมราช จำนวน ๖ รูป

พุทธศักราช ๒๕๔๐ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๑๔ ตอนที่ ๕๑ ก. ลงวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นผลให้วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ได้รับการยกฐานะตามกฎหมายด้วยและเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช มีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีที่ตั้งอยู่ ณ วัดแจ้งวรวิหาร ถนนราชดำเนิน ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

พุทธศักราช ๒๕๔๒ มีผู้บริจาคที่ดินบริเวณบ้านบางสะพาน ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน ๓๙ ไร่เศษ เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช แห่งใหม่ในปีปัจจุบัน (๒๕๕๘) มีที่ดินจำนวน ๔๑ ไร่ ๓ งาน

พุทธศักราช ๒๕๔๓ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงพื้นที่และก่อสร้างอาคารเรียน อาคารอำนวยการ อาคารหอประชุมและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ และเมื่อ พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้ย้ายไปจัดการการเรียนการสอน ณ ที่ตั้งแห่งใหม่ บ้านบางสะพาน ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

อาคารเรียน มจร.วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

พุทธศักราช ๒๕๔๕ ได้ขยายห้องเรียนไปยังจังหวัดปัตตานี โดยเปิดสอนหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต คณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาศาสนา ณ วัดมุจลินทวาปีวิหาร ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ในปัจจุบันได้ก่อสร้างอาคารเรียนและย้ายไปยังสถานที่ใหม่ ถนนโรงเหล้าสาย ข.
ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในคราวประชุม ครั้งที่ ๖/๒๕๕๓ มีมติให้จัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์ปัตตานี โดยยกฐานะโครงการขยายห้องเรียนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งอยู่ ถนนสามัคคี สาย ข. ซอย ๑๐ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ขึ้นเป็นวิทยาลัยสงฆ์ปัตตานี โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘ ตอนพิเศษ ๔ ง วันที่ ๑๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๔

ปัจจุบันวิทยาลัยสงฆ์ปัตตานีมีการเรียนการสอนใน ๓ สาขาวิชา คือ สาขาวิชาศาสนาสาขาวิชารัฐศาสตร์ (การปกครอง) และสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

อาคารห้องเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร ตำบลหนองจิก อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

พุทธศักราช ๒๕๔๖ ได้ขยายห้องเรียนไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเปิดสอนหลักสูตร พุทธศาสตรบัณฑิต คณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาศาสนา ณ วัดพัฒนาราม ตำบลตลาดใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ปัจจุบันห้องเรียนวัดพัฒนาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัยสงฆ์ มีการเรียนการสอน ๓ สาขาวิชา คือ สาขาวิชาศาสนา สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ และสาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ

อาคารห้องเรียนวัดพัฒนาราม ตำบลตลาดใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

พุทธศักราช ๒๕๕๒ ดร.นนทพร โสภณ ผู้ถือใบอนุญาตและเจ้าของวิทยาลัยศรีโสภณ ได้มอบที่ดินและอาคารเรียนพร้อมอุปกรณ์การศึกษาของวิทยาลัยศรีโสภณให้เป็นของมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช จึงย้ายที่ทำการจากอาคารเรียนบ้านบางสะพาน มาบริหารการเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (อาคารเรียนวิทยาลัยศรีโสภณ) เลขที่ ๓/๓ หมู่ ๕ ตำบลมะม่วงสองต้น อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน

อาคารเรียน มจร.วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (อาคารเรียนวิทยาลัยศรีโสภณ) ตำบลมะม่วงสองต้น อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
Close